ARTICLE

เด็กน้อยปัญหาของการปิดโรงเรียนและเปิดอย่างไรให้ปลอดภัย

เมื่อทั้งโลกถูกผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 การชุมนุม รวมตัวหรือตั้งวงถือเป็นการกระทำที่อันตราย เพราะอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดครั้งใหม่ ดังตัวอย่างจากสนามมวยที่เคยเกิดขึ้น ตัวอย่างของการรวมตัวของคนจำนวนมาก...

เมื่อทั้งโลกถูกผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 การชุมนุม รวมตัวหรือตั้งวงถือเป็นการกระทำที่อันตราย เพราะอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดครั้งใหม่ ดังตัวอย่างจากสนามมวยที่เคยเกิดขึ้น ตัวอย่างของการรวมตัวของคนจำนวนมาก...

 

การสุงสิงกันอย่างใกล้ชิดก็เกิดขึ้นตลอดเวลาในโรงเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่คำว่าห่าง กันหน่อย หรือ social distancing อาจจะไม่มีความหมายกับเค้า การปิดโรงเรียนจึงเป็นมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในแทบทุกประเทศ

 

ผลดีคือลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อจากที่โรงเรียนและก็นำกลับไปติดให้ที่บ้าน ส่วนผลเสียของการปิดโรงเรียนนั้นไม่มีใครตอบแน่ชัดได้เพราะตั้งแต่มีโรงเรียน มีการศึกษายังไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน

 

ในประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น เด็กนักเรียนได้ถูกจำกัดอยู่บ้านตั้งแต่ 24 มกราคม จนถึง 8 เมษายนเป็นเวลาสองเดือนครึ่ง นักวิจัยจากประเทศจีนได้ศึกษาสุขภาพจิตของเด็กเหล่านี้โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าและโรควิตกจริตของเด็กจำนวน 1,784 คน ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร JAMA Pediatrics หัวข้อ Mental Health Status Among Children in Home Confinement During the Coronavirus Disease 2019 Outbreak in Hubei Province, China เป็นการใช้แบบสอบถามในการประเมินสุขภาพจิตในเด็กอายุ 7-12 ปีส่งผ่านทางโทรศัพท์มือถือของผู้ดูแล เด็กที่ทำแบบสอบถามอยู่บ้านมาเฉลี่ยแล้วประมาณ 33 วัน

ก่อนที่จะทำแบบสอบถาม นักวิจัยพบว่าเป็นโรควิตกจริตถึง 18.9% และซึมเศร้ามากถึง 22.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการวิจัยในสิงคโปร์ ก่อนหน้านี้ในสถานการณ์ปกติที่ 9.3% และ 16.9%

นอกจากนั้น ยังพบว่าเด็กที่กังวลกับโรคโควิด-19 มากจะยิ่งทำให้สุขภาพจิตไม่ดี

ผลการวิจัยนี้ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายเพราะการอยู่ในบ้านไม่ออกไปไหน เด็กก็จะไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น และไม่ได้เล่นกับเพื่อนๆ ไม่ว่าใคร ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ ก็คงรู้สึกหดหู่

นอกจากสุขภาพจิตแล้วการปิดโรงเรียนมีผลกระทบกับแต่ละครอบครัวต่างกัน การพัฒนาของเด็กเล็กขึ้นอยู่กับความใส่ใจของผู้ดูแลและเวลาที่มีให้ในการเล่น ทางยูเนสโกออกมาแสดงความกังวลในหลายแง่มุมตั้งแต่การศึกษาที่หายไปหลายเดือนซึ่งไม่แน่สุดท้ายอาจจะรวมแล้วถึงปีด้วยซ้ำ

 

และใช้การชดเชยขาดเรียนโดยการใช้การเรียนการสอนออนไลน์ของประเทศเราอาจจะเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับการเรียนเพราะผู้รับผิดชอบสามารถนำครูที่สอนเก่งที่สุดมาทำการเรียนการสอนให้ทั่วประเทศได้ นอกจากนั้นเด็กยังสามารถกลับมาดูซ้ำได้อีกด้วย

แต่ปัญหาของการใช้ระบบออนไลน์คือการที่เด็กจะไม่ได้เล่น ไม่ได้พบปะกับผู้คน และเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ในครอบครัวที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต มือถือที่รองรับการถ่ายทอดในทางนี้จึงอาจจะขาดโอกาสไป และเป็นอีกจุดที่ต้องแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเพิ่มการเรียนเข้าไปในช่องทีวี การใช้วิทยุก็อาจจะเป็นส่วนช่วยได้ในระหว่างที่สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำสูงขนาดนี้ ส่วนเรื่องการศึกษาที่หายไปและอาจไม่สามารถเติมเต็มจากการเรียนออนไลน์ได้

เมื่อเปิดใหม่ควรให้กลับไปเรียนชั้นเดิมก่อนอย่าเพิ่งข้ามไปอีกชั้นหนึ่ง ส่วนผู้รับผิดชอบการศึกษาเอง ระยะเวลานี้ควรสร้างแบบแผนของการเรียนใหม่ กำหนดลักษณะของครูที่ต้องให้เงินเดือน ค่าตอบแทนครูที่เหมาะสม อาจจะสูงกว่าหมอ หรือวิศวกรด้วยซ้ำ และยังเป็นไปได้ที่เอาหมอหรือวิศวกรมาเป็นครู เอาสถาปนิกมาแสดงวิธีการคิดการออกแบบให้มีความคิดสร้างสรรค์ และหัดคิดนอกกรอบก็คงจะเยี่ยมเลย

ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง ต้องอาศัยผู้รับผิดชอบการศึกษา

 

ต่อมาในบางครอบครัว เด็กอาจจะได้อาหารที่ครบห้าหมู่ที่โรงเรียนแต่เมื่ออยู่บ้านกลับไม่ได้อาหารที่เหมาะสม สุดท้าย ก็ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย พ่อแม่ก็ไม่ได้เตรียมตัวว่าช่วงกลางวันจะต้องเลี้ยงลูก เพราะปกติก็จะอยู่โรงเรียนและอาจจะทำให้คนใดคนหนึ่งต้องออกจากงานมาดูแลลูก

หนักกว่าคือยังคงไปทำงานทั้งสองคนปล่อยลูกไว้คนเดียวซึ่งอันตรายมากและห้ามอย่างเด็ดขาด การจะต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานมีความเครียดสูงขึ้น อัตราการทำร้ายเด็กก็สูงขึ้นมาตามกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นจากเหตุผลใดก็ตาม ไม่สามารถยอมรับ ได้เด็ดขาด ส่วนเด็กพิเศษที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์หรือมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้วนั้นทั้งเด็กและครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนนี้มากกว่าเด็กทั่วไปด้วยซ้ำ

เพราะนอกจากพึ่งพาโรงเรียนในการให้ การศึกษา ยังพึ่งพาการช่วยเหลือจากโรงเรียนในส่วนของสุขภาพจิตของเด็กอีกด้วย

ข้อเสียของการปิดโรงเรียนนั้นมีมาก จึงมีข้อสงสัยว่าการปิดโรงเรียนนั้นช่วยลดการระบาดได้มากแค่ไหน นอกเหนือจากที่ทำอยู่แล้วในสังคมยุคโควิด-19 เพราะโรคนี้ถึงเด็กจะติดแต่ที่ผ่านมาก็ดูจะไม่เกิดปัญหามากนักและไม่นับเป็นกลุ่มเสี่ยง มีการพูดถึงต่ออีกว่าในเด็กนั้นติดยากกว่า และค่า R0 จากการคำนวณการติดโรคในเด็กของประเทศไต้หวันและจีนนั้นอาจจะต่ำกว่าผู้ใหญ่ที่มีค่า R0 สูงกว่า 2.5

ประการนี้นำมาถึงการถกเถียงว่าการปิดโรงเรียนนั้นอาจช่วยลดการแพร่ระบาดได้น้อย ลดอัตราการตายได้แค่ 2-4% (Lancet Child Adolescence Health, May 4, 2020) ไม่คุ้ม...เมื่อเทียบกับผลเสียที่กล่าวด้านบนเยอะแยะ

การถกเถียงอีกด้านหนึ่งคือ แท้จริงแล้วเด็กอาจมีอัตราการติดเท่าผู้ใหญ่แต่ไม่ค่อยแสดงอาการ ถึงมีอาการก็ไม่ป่วยเยอะจึงไม่ได้รับความสนใจและตรวจน้อยกว่า และการที่ติดแล้วไม่แสดงอาการนี้ละคือความน่ากลัว เพราะพอกลับบ้านก็เอาไปแพร่ให้กลุ่มเสี่ยงต่อได้

ไม่เท่านั้นล่าสุดมีหลักฐานว่าเด็กที่เคยติดโควิด-19 แทบไม่มีอาการ หรือหายดีแล้ว กลับมีปัญหาภูมิคุ้มกันแปรปรวนคล้ายกับโรคคาวาซากิซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง อ่านดูได้ในบท ‘โควิด-19 มรสุมภูมิวิกฤติในเด็ก’... แปลว่าการเปิดโรงเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และมีความเสี่ยงเพิ่มการแพร่กระจายและความเสี่ยงเด็กป่วยหนักอีกด้วย แต่ข้อเสียของการไม่เปิดก็เยอะเหลือเกิน ยังไงก็ต้องเปิดแต่เปิดอย่างไรถึงจะเสี่ยงน้อยที่สุด

...เปิดแล้วจะติดตามดูการติดเชื้ออย่างไรเพื่อกักกันได้รวดเร็วที่สุด ไม่ปล่อยให้เชื้อเล็ดลอดไปไกล.

หมอดื้อ


source : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1882352

CLICK TO VERIFY: This site uses a GlobalSign SSL Certificate to secure your personal information.