ฉีดแล้วไม่ติด หรือถ้าติดแล้วก็ไม่ตาย ไม่คางเหลือง เกิดอาการเพียงเล็กๆน้อยๆ และปล่อยไวรัสแพร่ออกไปให้คนอื่นน้อยลง สั้นลง เช่นแทนที่จะปล่อยแพร่ไปได้ 14 วัน 21 วัน ก็เหลือเพียง 3 วัน 5 วัน เป็นต้น และหยุดแพร่ในเวลาอันสั้น
นอกจากนั้นคือฉีดไปแล้วตัวคนถูกฉีดเองไม่ตาย ไม่เกิดอันตรายจากวัคซีนหรือไม่เกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงจากวัคซีน ทั้งนี้ ตั้งแต่ฉีดปั๊บไปจนกระทั่งถึงสองเดือน และเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วเกิดติดเชื้อ วัคซีนจะต้องไม่ทำให้โรคที่เกิดจากโควิด-19 รุนแรงขึ้นไปอีก (vaccine enhanced Covid-19 disease) เนื่องจากโควิด-19 ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่หัวจดเท้า แม้กระทั่งในช่องท้องลำไส้และอวัยวะต่างๆทั่วไป
แต่โดยรวมก็คือเมื่อฉีดไปแล้วถึง 50% อย่างน้อยของประชากร ถ้าจะให้ดีให้ถึง 60% ต้องสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายหรือทำให้การแพร่กระจายลดลงได้ จะได้สามารถอยู่เย็นเป็นสุขกันได้ระดับหนึ่ง แม้ว่ายังคงต้องมีวินัยเหมือนเดิมก็ตาม
ฉีดแล้วไม่ติด นั่นก็คือวัคซีนมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโรค ไม่ว่าติดเชื้อโดยไม่มีอาการหรือมีอาการก็ตาม ทั้งนี้ ไม่น่าเป็นไปได้และการประเมินต่างๆจากวัคซีนประเภทและชนิดที่ทำการพัฒนาขึ้น จะประเมินประสิทธิภาพจากกลุ่มคนที่ฉีดและไม่ได้ฉีดวัคซีนตั้งแต่เป็น 1,000 จนกระทั่งถึงเป็น 10,000 ราย
และดูว่ามีใครติดเชื้อหรือไม่ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งการติดเชื้อดังกล่าวเป็นการติดเชื้อแบบที่มีอาการทั้งสิ้นหรือส่วนมาก ทั้งนี้ การประเมินจะลดหลั่นแตกต่างกันออกไป ว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรง ขั้นวิกฤติหรือขั้นปานกลางหรือขั้นน้อยๆ และยังมีตัวแปรอื่นๆอีก โดยที่แต่ละกลุ่มนั้น มีอายุแตกต่างกัน มีโรคประจำตัวหรือไม่
และ...โรคประจำตัวนั้น สามารถคุมให้อยู่ในสภาวะปกติหรือไม่ นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการสัมผัสโรคของแต่ละกลุ่มด้วย และเป็นที่มาถึงความหวังของวัคซีนในระดับที่สองนั่นก็คือ...
ฉีดแล้วถึงแม้ว่าติดก็ไม่ตาย โดยมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางพอทนไหว อาจจะถึงเข้าโรงพยาบาล ถึงกับใส่ท่อหายใจหรือไม่ หรือใส่ท่อไม่นาน ถอดท่อออกไปได้และไม่ถึงกับมีผลแทรกซ้อนกับอวัยวะอื่นๆ เช่น เส้นเลือดสมองตันหรือแตกหรือเกิดมีเส้นเลือดหัวใจตัน เป็นต้น
และความหวังของวัคซีนอีกประการคือ ถึงแม้ว่ามีการติดเชื้อโดยที่มีอาการหรือไม่มีอาการก็ตาม ระยะเวลาของการแพร่เชื้อต่อจะสั้นลง และทำให้ถูกปล่อยกลับบ้านเร็วขึ้น หรือในกรณีที่ไม่มีอาการ ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าติดเชื้อไปแล้ว ถึงแม้จะมีการปล่อยเชื้อออกมา ก็จะเป็นจำนวนน้อยและไม่กี่วัน สร้างความปลอดภัยให้กับคนในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือในชุมชนที่มีการพบปะสังสรรค์กันอยู่ด้วย
ความหวังของวัคซีนอีกประการหนึ่ง คือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพแบบเรื้อรัง หลังจากที่มีการติดเชื้อไปแล้วไม่ว่าจะเป็นติดเชื้อโดยมีอาการน้อยหรือมากก็ตาม แต่กลับมีอาการทนทุกข์ ทรมานต่อเนื่องไปอีก แม้ว่าจะรอดชีวิตไปแล้วก็ตาม
อาการโควิด ระยะยาว (Long COVID หรือ Long Hauler) เป็นที่จับตาและเรียกร้องให้มีการให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รอดชีวิตไปแล้ว แต่ยังคงมีอาการทุกข์ทรมานต่อเนื่องไปอีกตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา เอกสารจากประเทศอังกฤษ NICE (The National Institute for Health and Care Excellence) วันที่ 18 ธันวาคม 2563 พยายามที่จะแบ่งกลุ่มอาการต่างๆออกเป็นสามระยะด้วยกัน
โดยในระยะแรกที่เป็นการติดเชื้อและมีอาการของโควิด-19 อยู่ถึงสี่สัปดาห์ (acute COVID-19) ในระยะที่สองยังคงมีอาการอยู่ต่อเนื่องจาก 4 ถึง 12 สัปดาห์ (ongoing symptomatic COVID-19) และระยะที่สามมีอาการที่เกิดขึ้นระหว่างที่ติดเชื้อหรือหลังจากการติดเชื้อ ที่เข้ากันได้กับโควิด-19 โดยยังคงมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ โดยที่ไม่สามารถอธิบายได้จากโรคอื่น
ในประเทศอังกฤษเองจากการประเมินผู้ป่วย 186,000 ราย พบว่า หนึ่งในห้าจะมีอาการต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์และ 9.9% จะยังคงมีอาการอยู่หลังจาก 12 สัปดาห์ โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่อ่อนเพลีย ไอและปวดหัว...ทั้งนี้เข้ากันได้กับรายงานการศึกษาจากหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและมีอาการทั้งที่อาการไม่มาก หายเอง หรือมีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อหายแล้ว นอกจากจะพบว่าอวัยวะที่ถูกกระทบจะมีบางส่วนถูกทำลายถาวร ยกตัวอย่างเช่นปอดบวมแม้เมื่อหายแล้ว จะมีบางส่วนถูกทำลายไป มากน้อยขึ้นอยู่กับการรักษาเร็วหรือช้าและประสบผลสำเร็จในการกำจัดไวรัสและป้องกันไม่ให้ไวรัสจุดชนวนปะทุให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงในอวัยวะต่างๆหรือไม่
นอกจากนั้นถึงแม้ว่าอาการเด่นจะเป็นในเรื่องของปอดบวมก็ตาม แต่ผลของการติดเชื้อไวรัสและการอักเสบจะส่งผลไปยังโรคประจำตัว ที่ผู้ป่วยมีอยู่แล้วเช่นกำลังจะมีสมองเสื่อมหรือมีสมองเสื่อมอยู่บ้าง ภาวะสมองเสื่อมนั้นจะมีความรุนแรงขึ้นมากหลังจากที่หายจากโควิด-19 แล้วและเช่นเดียวกันกับโรคหัวใจและโรคไตรวมทั้งโรคที่เกิดกับระบบอวัยวะอื่นๆ
ความจำเป็นที่ต้องป้องกันไม่ให้โควิด-19 ระบาดลุกลามไปทั่ว ไม่ใช่คำนึงถึงแต่รักษาชีวิตผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังคงต้องคิดถึงผลกระทบในระยะยาวที่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความลำบาก
ความหวังของวัคซีนประการสุดท้าย ก็คือฉีดไปแล้วไม่เกิดผลแทรกซ้อนอย่างรุนแรงทั้งที่เกิดจากตัววัคซีนเองหรือตัววัคซีนกลับทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วโรคโควิด-19 กลับหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก
การใช้วัคซีนและมีการเสียชีวิตในกลุ่มคนเปราะบางสูงอายุ โดยเสียชีวิตเร็วหลังฉีด อาจจะทำให้เกิดความคิดใหม่โดยฉีดคนแข็งแรงหนุ่มสาวเพื่อกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดในวงกว้างรวมกระทั่งถึงไม่แพร่สู่คนเปราะบางในครอบครัว...ในประเทศอิสราเอลการกันการติดเชื้อ จะได้ผลในคนหนุ่มสาวมากกว่าคนแก่ จากรายงานวันที่ 15 มกราคม 2564 คือ 60% เทียบกับ 30% โดยประเมินหลังการใช้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม ไม่ใช่ 2 เข็ม
แต่กระนั้น วัคซีนดังกล่าวรวมกระทั่งถึงวัคซีนโมเดอร์นา มีผลข้างเคียงรายงานการเสียชีวิตที่น่าจะอธิบายเกี่ยวเนื่องกับการได้รับวัคซีนในผู้สูงอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป และเปราะบางมีโรคประจำตัว ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยรักษาชีวิตจากโควิด-19 แต่กลับได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน รวมกระทั่งถึงผลข้างเคียงในคนอายุน้อยกว่า 60 ที่ไม่มีโรคประจำตัว
ทั้งนี้ จากการที่มีวัคซีนหลายประเภทจากกระบวนการผลิตต่างกัน ตั้งแต่แบบโบราณคือเชื้อตาย เช่นของจีน หรือเป็นโปรตีนทำเป็นวัคซีน เช่นของใบยา หรือเป็นเทคนิคกึ่งใหม่ ที่ฝากเข้าไปกับตัวไวรัสอื่น เช่นของออกซ์ฟอร์ด แอสตรา
เซเนกา หรือเป็นเทคนิคใหม่เอี่ยม mRNA
ดังนั้นจากตัวอย่างของผลแทรกซ้อน อาจจะต้องทำให้มีการเลือกใช้วัคซีนต่างประเภทกันในกลุ่มคนอายุน้อย มาก แข็งแรงหรือเปราะบาง หรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้วซึ่งอาจควบคุมได้ไม่ดีมากกว่า เป็นอย่างนี้ดีกว่ามั้ยครับ.
หมอดื้อ