NEWS

"งานวิจัยค้างคาวและความพร้อมของห้องแล็บหนุนเสริมการรับมือกับไวรัสของไทย "


(บทความแปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนโดย มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารองค์กร องค์การอนามัยโลก แปลโดย สุวิมล สงวนสัตย์

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – ผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยเรื่องสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาในค้างคาว กล่าวว่าการที่ประเทศไทยทำการวิจัยมาอย่างยาวนานในเรื่องนี้ และมีความพร้อมในเรื่องการวิจัยดังกล่าวเป็นคุณูปการให้ห้องแล็บ และการตรวจวินิจฉัยมีส่วนส่งเสริมให้ประเทศสามารถจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

การประกาศเคอร์ฟิวในตอนกลางคืนและการสั่งปิดสถานที่ต่างๆที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันช่วยคุมการระบาดของโรคได้ รวมถึงการปิดชายแดนซึ่งเป็นจุดที่แม้น้อยคนจะผ่านเข้ามา แต่ก็ต้องผ่านการคัดกรองและกักกันอย่างเข้มงวด

แต่แน่นอน ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยสามารถควบคุมโรคได้ คือความสามารถในการตรวจพบและจัดการกับผู้ป่วยรายแรกๆ ได้ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ยืนยันผู้ป่วยโควิด 19 นอกเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นผู้โดยสารที่เดินทางมายังสนามบินสุววรณภูมิจากเมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 8 มกราคม การคัดกรองที่ทำเป็นกิจวัตรที่สนามบินนับตั้งแต่มีรายงานการระบาดในจีนพบว่า ผู้โดยสารคนดังกล่าวมีไข้

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขส่งผู้โดยสารดังกล่าวไปสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งต่อมามีการวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ และแพทย์สงสัยว่าเป็นการติดเชื้อไวรัส

ตัวอย่างซึ่งเก็บจากส่วนหลังของโพรงจมูกได้ถูกตรวจวิเคราะห์โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกเพื่อการวิจัยและฝึกอบรมเกี่ยวกับโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัส ห้องแล็บนี้มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะชนิดที่อยู่ในค้างคาว

Dr. Supaporn Wacharapluesadee and one of her team members who worked on the first COVID-19 case validation at Thai Red Cross Emerging Infectious Diseases at Chulalongkorn University ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดีและหนึ่งในสมาชิกทีมที่ทำงานในการยืนยันผู้ป่วยโควิด 19 รายแรกในประเทศไทย ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง

ตัวอย่างถูกวิเคราะห์โดยทีมที่นำโดย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ทางทีมยืนยันพบเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยการทดสอบแบบ RT-PCR ซึ่งจะจับสารพันธุกรรม (RNA) ของไวรัสโคโรนาและปัจจุบันเป็นวิธีการตรวจที่ใช้กันเป็นหลักเนื่องจากมีความแม่นยำสูงที่สุดในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

จากนั้นทีมของดร.สุภาภรณ์ได้ถอดลำดับพันธุกรรมของของไวรัสโคโรนานี้ ซึ่งโดยหลักแล้วก็คือ “พิมพ์เขียว”ของยีน และมีข้อสังเกตว่าลำดับพันธุกรรมมีความคล้ายมากกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่พบในค้างคาวเกือกม้าในจีน

“เราทำวิจัยเกี่ยวกับค้างคาวในไทยและโรคที่เกี่ยวกับค้างคาวมากว่า 20 ปี” ดร.สุภาภรณ์กล่าว “ลักษณะจำเพาะของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ไม่ตรงกับข้อมูลของสายพันธุ์อื่นที่เคยเปิดเผยมาก่อนเลย”

เพื่อทำตามระเบียบวิธีปฏิบัติของการสอบสวนโรค ตัวอย่างได้ถูกส่งไปยังแล็บอีกสองแห่งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และสาธาณสุข แล็บทั้งสองแห่งทำการทดสอบพร้อมกันโดยใช้วิธีต่างกันเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำที่สุด

ดร.พิไลลักษณ์ โอกาดะ หัวหน้าศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติและคณะประกอบไปด้วยนักจุลชีววิทยา 10 คนทำการทวนสอบดีเอ็นเอของไวรัสด้วยการใช้การถอดลำดับแบบ metagenomic sequencing ด้วยการใช้แพลตฟอร์ม Next-Generation โดยอ้างอิงจากชุดข้อมูลการถอดลำดับจีโนมสำหรับ 30,000 คู่เบส

Dr. Pilailuk Okada (front), the head of the National Influenza Centre at the Thai National Institute of Health and her team of microbiologists.

ดร.พิไลลักษณ์ โอกาดะ (แถวหน้า) หัวหน้าศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติและคณะที่ห้องแล็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 คณะทำงานชุดนี้ได้ทำการทวนสอบผลตรวจผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกที่ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และสาธาณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข   © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง

หลังจากนั้นในวันที่ 11 มกราคม ข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดในอู่ฮั่นก็ถูกเผยแพร่ออกมาและได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับลำดับพันธุกรรมของเชื้อจากผู้เดินทางกลับจากอู่ฮั่นที่นำมาแยกเพาะ ซึ่งพบว่า ตรงกัน 100% ไทยจึงประสบความสำเร็จในการยืนยันผู้ป่วยโควิด 19 รายแรกในวันที่ 13 มกราคมด้วยตนเอง

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และสาธาณสุขพัฒนาสารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์ดีเอนเอสายสั้นๆ (oligonucleotide primer)และชุดตรวจเพื่อตรวจหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งคัดมาจาก nucleocapsid (ยีน N) ของไวรัส แถบแสดงผลถูกออกแบบสำหรับการตรวจหาเชื้อชนิดนี้โดยเฉพาะ (สารตั้งต้นสองชนิด/ชุดตรวจ) ซึ่งแสดงถึงมาตรฐานระดับสูงและศักยภาพของห้องแล็บระดับประเทศ

แล้วไทยมีการค้นพบที่น่าทึ่งนี้ได้อย่างไร

ในห้องแล็บหลายแห่ง เช่น ที่ดร.สุภาภรณ์ทำงานอยู่ มีความเชี่ยวชาญและเครื่องมือในการตรวจหาไวรัสโคโรนาในค้างคาว ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ง่ายต่อการแปลงไปสู่การตรวจหาโควิด 19 และในส่วนของการเตรียมพร้อมรับโรคระบาด เช่น โรคที่มีลักษณะคล้ายโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน (SARS) ประเทศไทยได้ตั้งเครือข่ายของห้องแล็บที่ได้รับการรับรองมาตรฐานไว้แล้วทั่วประเทศ เรามีขีดความสามารถในการทำวิจัยเพียงพอที่จะยกระดับการพัฒนาชุดตรวจและระเบียบวิธีการตรวจเพื่อจะหาเชื้อไวรัสใหม่นี้

Health Science Centre’s team wearing Personal Protective Equipment creating a PCR mixture as a first step of RT-PCR method at the Thai Red Cross Emerging Infectious Diseases at Chulalongkorn University

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพสวมชุดป้องกันตนเอง (PPE) ขณะผสมน้ำยา PCR ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการตรวจ RT-PCR ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง

ในการตรวจหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก หรือ Coronavirus disease (COVID-19) technical guidance: Laboratory testing for 2019-nCoV

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าว นอกจากนี้ นโยบาย “หนึ่งห้องแล็บ หนึ่งจังหวัด รายงานผลใน 24 ชั่วโมง” ของไทยยังกำหนดให้มีอย่างน้อยหนึ่งแล็บในแต่ละจังหวัดใน 77 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อตรวจไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งนี้ช่วยให้สามารถระบุแหล่งที่เป็นพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ได้

นับจากวันที่ 1 มกราคม ถึง 26 มิถุนายน 2563 ห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลตำรวจโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเอกชนได้ทำการตรวจทั้งสิ้น 603,657 ตัวอย่างผ่านวิธี RT-PCR

ดร.นภวรรณ เจนใจ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพและวิชาการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า ขณะนี้มีห้องปฏิบัติการจำนวน 203 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานให้ตรวจโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR

ดร.นภวรรณกล่าวว่า การฝึกใช้เครื่องมืออย่างต่อเนื่อง การจำลองสถานการณ์ การจำลองฉากทัศน์ การประเมินความเสี่ยง และบทเรียนจากโรคระบาดก่อนหน้านี้ เช่น โรค SARS โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะอย่างโรคไข้ซิก้า และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ (H1N1) ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจขอบเขตของบุคลากรและขีดความสามารถของเทคโนโลยี “เราต้องหมั่นอุ่นเครื่องอยู่เสมอ” ดร.นภวรรณกล่าว

The sample, a PCR mixture, will be analysed in a Thermal Cycler machine. RT-PCR technique to detect the novel coronavirus genetic information at the Department of Medical Science

ตัวอย่างและน้ำยาทดสอบจะถูกวิเคราะห์ในเครื่อง thermal cycler ด้วยเทคนิค RT-PCR เพื่อตรวจจับข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่ายห้องแล็บตรวจโควิด 19 ต่างๆ สามารถตรวจตัวอย่างเกินเป้ารายวันที่ตั้งไว้และขณะนี้ทำการตรวจกว่า 10,000 ตัวอย่างต่อวันสำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑล และอีก 10,000 ตัวอย่างสำหรับต่างจังหวัดโดยใช้เทคนิค RT-PCR

ค่าใช้จ่าย 2,500 บาท (ราว 81 เหรียญสหรัฐ) ต่อการตรวจ RT-PCR หนึ่งชุด เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณของภาครัฐที่ได้จัดสรรไว้เพื่อควบคุมโรคภายใต้ความคุ้มครองของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนชาวไทยและกองทุนประกันสังคมสำหรับลูกจ้าง

การตรวจให้ได้ผลที่แม่นยำรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำอย่างไรเมื่อได้รับผลนั้นสำคัญยิ่งกว่า การตรวจอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูงทั่วประเทศไทยทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการส่งทีมไปแยกผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวกหรือการติดตามผู้สัมผัส เพื่อให้ผู้สัมผัสทุกคนได้กักตัวและถูกติดตามใกล้ชิด การแยกผู้ป่วยและผู้สัมผัสนั้นเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้และเป็นกุญแจสำคัญของการชะลอหรือตัดวงจรของการระบาด

Dr. Opart Karnkawinpong, Director General of the Department of Medical Science

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีมีหน้าที่รับผิดชอบในการกับกับดูแลและบริหารห้องแล็บทั่วประเทศภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นพ.โอภาสนำเสนอให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าในยามที่หน้ากากอนามัยอาจขาดแคลนในช่วงที่มีการระบาด © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง

ทีมระบาดวิทยากว่า 1,000 ทีมได้ทำงานด้านการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมา นพ.โอภาสกล่าว นอกจากนี้ไทยยังได้จัดให้มีระบบการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้เก็บตัวอย่างทางโพรงจมูกและตัวอย่างน้ำลายเกือบ 100,000 ตัวอย่าง โดยเน้นเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องกัก ผู้ต้องขัง แรงงานต่างด้าว คนส่งเอกสารและพนักงานขับรถ

ไทยกำลังวางแผนจะจัดทำการเฝ้าระวังที่เป็นระบบและมีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ในระยะ 14-24 เดือนข้างหน้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด 19

Samples from patients collected at Lumpini Boxing Stadium were tested positive for COVID-19. It's known to be Thailand's first coronavirus cluster transmission. Amplification plot shows sharp curves.

ตัวอย่างเก็บจากผู้ป่วยที่สนามมวยลุมพินีที่มีผลตรวจโควิด 19 เป็นบวก นี่เป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนแรกในประเทศไทยและการพล็อตกราฟแสดงให้เห็นความชันที่เกิดขึ้น © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง

แม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ดร.นภวรรณกล่าวว่า หวังว่าไทยยังจะ “เฝ้าระวังอย่างสูง” ในการค้นหาการแพร่ระบาดในชุมชน ประสบการณ์จากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ทุกประเทศต้องไม่ประมาทและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะต่างๆเสมอเพื่อความปลอดภัยของทุกคน มิเช่นนั้นแล้วจะเกิดการระบาดในพื้นที่หรือจะมีพื้นที่เสี่ยงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว


source : https://www.who.int/thailand/news/feature-stories/detail/bat-research-and-lab-readiness-boost-thailand-s-campaign-against-the-novel-coronavirus-TH

CLICK TO VERIFY: This site uses a GlobalSign SSL Certificate to secure your personal information.