NEWS

ดร.สุภาภรณ์’’’’ นักเทคนิคการแพทย์ ผู้ถอดรหัสไวรัสโคโรนา เผยยังไม่พบเชื้อในค้างคาวไทย


ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่เป็นผู้ตรวจพบและยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ที่กำลังระบาดในขณะนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศจากทางการจีน 2 วัน

ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักเทคนิคการแพทย์ รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่เป็นผู้ตรวจพบและยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ที่กำลังระบาดในขณะนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศจากทางการจีน 2 วัน เผยว่า สืบเนื่องจากที่มีการพบโรคลึกลับในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่ทำให้มีอาการปอดบวมปอดอักเสบ ซึ่งขณะนั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโรคอะไร กรมควบคุมโรคได้ให้โจทย์กับทางทีมนักวิจัย ทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรมวิทยาศาสต์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ในการตรวจหาโรคลึกลับดังกล่าว เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และหยุดการแพร่ในระบาดในประเทศไทย วันที่ 3 ม.ค. เริ่มมีมาตรการคัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย และส่งตัวอย่างของนักท่องเที่ยวที่ต้องสงสัยมาเป็นระยะ โดยนักวิจัยทำการตรวจไวรัสที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ คัดกรองโรคที่รู้จักออกก่อน 33 ชนิด และตรวจเชื้อไวรัส 2 ตระกูล คือ โคโรนาไวรัส และอินฟลูเอ็นซา จนกระทั่งวันที่ 8 ม.ค. มีผู้ป่วยรายหนึ่งที่ต้องสงสัย และต่อมาตรวจพบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสในตระกูลไวรัสโคโรนา ในวันที่ 9 ม.ค. แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นเชื้อที่ระบาดในเมืองจีนหรือไม่ เพราะยังไม่มีการเปิดเผยจากทางการจีน ซึ่งความหลากหลายของโคโรนาไวรัสมีความซับซ้อนสูง ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้ง่าย การตรวจหาโคโรนาตัวใหม่ใช้หลักการเดียวกับการตรวจหาโรคซาร์ส และเมอร์ส ซึ่งทั้งสองโรคล้วนอยู่ในตระกูลโคโรนาไวรัส โดยซาร์สเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ 5 และเมอร์สเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ 6 คือ เพิ่มปริมาณไวรัสแบบทั้งตระกูล แล้วถอดรหัสพันธุกรรม ก่อนนำมาเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมจากธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จพบว่าเหมือนกับโรคซาร์ส ประมาณ 82-90% หลังจากนั้นจึงนำไปเปรียบเทียบกับเชื้อที่ตรวจพบที่อู่ฮั่นซึ่งพบว่าตรงกัน 100% ถือเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธ์ที่ 7 สำหรับข้อมูลทางวิชาการที่มีการเผยแพร่โดยนักวิจัยชาวจีน พบว่าสารพันธุกรรมของผู้ป่วยและค้างคาวมงกุฎเหมือนกัน 96% จึงถือเป็นต้นตอที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งไวรัสโคโรนามีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอจึงมีโอกาสกลายพันธุ์สูง และสามารถก่อการติดเชื้อข้ามสปีชีส์ได้มากขึ้น ในสถานที่ที่นำสัตว์เหล่านี้มาอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น ดังเช่นในตลาดค้าสัตว์เพื่อเป็นอาหารที่พบเชื้อในเมืองอู่ฮั่น แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าแพร่เชื้อมาสู่คนได้อย่างไร หรืออาจมีตัวกลางที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นก็เป็นได้ ดังเช่นโรคซาร์ส ที่มีอีเห็นเป็นตัวกลางนำเชื้อจากค้างคาวมาสู่คน แต่หากเปรียบเทียบกับโรคซาร์ส และเมอร์ส โคโรนาสายพันธ์ุล่าสุดถือว่ารุนแรงน้อยกว่าเมื่อวัดจากอัตราการเสียชีวิต ทั้งนี้ เชื้อไวรัสสายพันธ์ุล่าสุด รวมถึงซาร์ส และเมอร์ส ล้วนไม่มียารักษา เป็นการรักษาตามอาการ เมื่อติดเชื้อแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับไวรัสในร่างกายของเราได้เองโดยที่ไม่ต้องมียารักษา แต่ทั่วโลกก็กำลังทำการพัฒนาและคิดค้นวัคซีนและยารักษาสำหรับเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบเชื้อโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ในค้างคาวในประเทศไทย ซึ่งมีการเตรียมลงพื้นที่ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ​สัตว์ป่า​และ​พันธุ์พืช​ สำรวจค้างคาว​มงกุฎ​ในไทย จำนวน 23​ ชนิด​ ว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่​ โดยจะต้องทำแผนสำรวจพื้นที่ก่อนว่า ค้างคาวมงกุฎมีอยู่ในพื้นที่ใดและจังหวัดใดบ้าง
 


source : https://youtu.be/xBpFgQve5i4

CLICK TO VERIFY: This site uses a GlobalSign SSL Certificate to secure your personal information.