นักวิทย์ติดตามศึกษาเชื้อโควิด-19 พบกลายพันธุ์แล้วถึง 7 สายพันธุ์ หลังระบาดข้ามปี เสียชีวิตแล้วกว่า 1.5 ล้านศพ ตอนนี้ สายพันธุ์ G กำลังระบาดทั่วโลก
เมื่อ 10 ธ.ค.63 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน พัฒนาการของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ระบาดใหญ่ทั่วโลก หลังจากเริ่มแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนคร่าชีวิตผู้คนแล้วกว่า 1.5 ล้านศพว่า เชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์แล้วถึง 7 กลุ่ม หรือ 7 สายพันธุ์ เพื่อต้องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายของมนุษย์
ศาสตราจารย์ นิโคลา สเปอร์เรียร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในรัฐเซาท์ ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งติดตามการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรัฐเซาท์ออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนพ.ย.กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องติดตามศึกษากลุ่มยีนของเชื้อโควิด-19 ก็เพื่อพยายามที่จะรู้ว่ามันมาจากไหน และการพยายามทำแผนที่เพื่อจะได้รู้เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ
รอยเตอร์ได้วิเคราะห์ตัวอย่างของยีนกว่า 185,000 ยีนจาก Global Initiative on Sharing All Influenza Data (GISAID) ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลของยีนเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่องใหญ่ที่สุดในโลก ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่สายพันธ์ุสำคัญของเชื้อโควิด-19 ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
สายพันธุ์ดั้งเดิมของเชื้อโควิด-19 ที่พบการระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น เมื่อธ.ค.62 เป็นสายพันธุ์ L จากนั้น เชื้อโควิด-19 ได้กลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์ S เมื่อต้นปี 2563 ต่อมาได้กลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ V และ G ซึ่งสายพันธุ์ G ยังได้กลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธ์ุ GR, GH และ GV ส่วนการกลายพันธุ์ที่ไม่บ่อยนักอื่นๆ ถูกรวมเข้าด้วยกัน เป็นสายพันธุ์ O
ขณะนี้ เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ G ได้ระบาดทั่วโลก ซึ่งการกลายพันธุ์ที่เฉพาะครั้งหนึ่งที่เรียกว่า D614G ได้กลายเป็นสายพันธุ์แตกต่างที่พบบ่อยที่สุด ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ D614G สามารถระบาดได้ง่ายมากขึ้น เพราะผลจากการศึกษาอื่นๆ ยังมีความขัดแย้งในเรื่องนี้อยู่ ส่วนการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เมื่อเร็วๆ นี้ คือ สายพันธุ์ GV ซึ่งปัจจุบันได้เป็นสายพันธุ์ที่ถูกแยกไประบาดในยุโรป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ชัดว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ GV ได้เข้ามาระบาดในยุโรปได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของเชื้อโควิด-19 จนถึงขณะนี้ ยังไม่ส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ที่อาจต้านทานต่อวัคซีนที่กำลังมีการพัฒนา ซึ่งสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการทำคือการพยายามที่จะชะลอการระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้ช้าลง เพราะถ้าเชื้อโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณหนามโปรตีนรอบเซลล์ เมื่อนั้นเชื้อโควิด-19 ก็อาจจะหนีรอดจากวัคซีนไปได้